ความรู้การตลาด

ภาษีออนไลน์ ที่พ่อค้าแม่ค้า ต้องรู้

ภาษีออนไลน์ ภาษีขายของออนไลน์

ภาษีออนไลน์ สำหรับแม่ค้าออนไลน์

วันนี้ขออนุญาตนำบทความจาก https://www.getinvoice.net/tax-online-seller มาให้ความรู้กันนะคะ เพราะคิดว่าผู้เขียนบทนี้อธิบายได้ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายดี และน่าจะเป็นประโยชน์กับแม่ค้าออนไลน์หลายๆๆท่าน ที่กำลังกังวลใจอยู่ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี มิ้วแนะนำให้เริ่มเลยค่ะ อย่ารอ

ภาษีออนไลน์ในที่นี้ หมายถึง ภาษีจากการขายของออนไลน์นะคะ

ทำความรู้จักกับ ‘ภาษีขายของออนไลน์ ’ กันก่อน

ภาษี ถือเป็นรายได้ของประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต้องเสียภาษี มีหลายคน เข้าใจผิดว่าการขายของออนไลน์นั้น ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเรามีรายได้เข้ามาเกินที่กำหนด ผู้มีรายได้ทุกคนต้องมีหน้าที่ยื่นภาษี ไม่ว่ารายได้จะถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นการขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ต้องมีการเสียภาษีเช่นกัน โดยภาษีของการขายของออนไลน์ นับเป็นภาษีเงินได้ ถูกจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 คือเงินได้จากการค้าขาย ซึ่งจะมีการแบ่งการคำนวณเป็นสองประเภท คือ

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปและมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด

รายได้เท่าไรถึงต้องมีการยื่นภาษีจากการ ‘ขายของออนไลน์’

แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ ที่มีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้จาการขายของออนไลน์ตั้งแต่ 60,000 บาทต่อปี จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

วิธี ‘คำนวณภาษี’ ของ แม่ค้าออนไลน์

แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ที่มีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา จะต้องมีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ แบบหักตามจริง และแบบเหมา 60%

  • หักค่าใช้จ่ายตามจริง จะเหมาะกับแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ ที่มีต้นทุนของสินค้าสูง เพราะวิธีนี้จะทำให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยวิธีนี้ต้องจัดเก็บรวบรวม บัญชีรายรับรายจ่าย พร้อมทั้งหลักฐานต่าง ๆ ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและช่วยลดความสับสนเมื่อต้องยื่นภาษี
  • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% จะเหมาะกับแม่ค้าออนไลน์ที่มีกำไรเยอะ ซึ่งการหักแบบเหมาจ่ายจะมีข้อดี คือ ไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้สรรพากร และแม่ค้าออนไลน์มือใหม่จะได้ประโยชน์ทางภาษีจากส่วนต่างของต้นทุนที่แท้จริง กับค่าใช้จ่ายแบบเหมา

ภาษีอะไรบ้างที่ต้องยื่นสำหรับ แม่ค้าออนไลน์ มือใหม่ ที่เป็นบุคคลธรรมดา

ภาษีที่ควรรู้และต้องยื่นสำหรับแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ที่เป็นบุคคลธรรมดา คือ คือ ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด. 90 โดยจะต้องยื่นภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนี้

รอบแรก คือการยื่น ภ.ง.ด. 94 หรือการยื่นภาษีครึ่งปี ช่วง ก.ค. – ก.ย. ของทุกปี ทำการยื่นภาษีโดยนำเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. มาแสดงในการยื่นภาษี ตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94 ภายในวันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. ในปีเดียวกัน

รอบที่สอง คือการยื่น ภ.ง.ด. 90 ยื่นภาษีปลายปี ช่วง ม.ค. – มี.ค. ของทุกปี ทำการยื่นภาษีโดยนำเงินได้ทั้งปี มากรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90  ภายในวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. ของปีถัดไป

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ และบริษัทจำกัด ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี

วิธี ‘คำนวณภาษี’ ของ แม่ค้าออนไลน์ มือใหม่

แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลทั้ง ห้างร้าน บริษัท จะต้องมีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แบบหักตามจริงเท่านั้น โดยวิธีนี้จะทำให้บริษัท ห้างร้าน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยแม่ค้าออนไลน์จะต้องมีการเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ

ภาษีอะไรบ้างที่ต้องยื่นสำหรับ แม่ค้าออนไลน์ มือใหม่ ที่เป็นนิติบุคคล

รอบแรก คือการยื่น ภ.ง.ด.51 หรือการยื่นภาษีครึ่งปี ช่วง ก.ค. – ส.ค. ของทุกปี ทำการยื่นภาษีโดยนำเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. มาแสดงในการยื่นภาษี ตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.51 ภายในวันที่ 1 ก.ค.-31 ส.ค. ในปีเดียวกัน

รอบที่สอง คือการยื่น ภ.ง.ด.50 ทำการยื่นภาษีโดยนำเงินได้ทั้งปี มากรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.50 ยื่นภายในเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป

ทั้งนี้ แม่ค้าออนไลน์มือใหม่บางท่านที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องมีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องจดทะเบียน VAT และยื่นภาษีทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออก ใบกำกับภาษี ให้กับลูกค้าด้วย

สิ่งสำคัญสำหรับแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ คือ การเก็บเอกสารหลักฐาน พวกใบเสร็จ บิลเงินสด ที่ได้มาต้องมาจากแหล่งที่มาชัดเจน มีชื่อร้าน ที่อยู่ในเอกสารอย่างถูกต้องด้วย และใบเสร็จของเราจากการขายของ ซื้อมาเท่าไร ขายไปเท่า ยอดต้องชนกันได้แบบลงตัว หรือ ถ้าใครเกรงว่าจะมีการผิดพลาดในการทำบัญชี แนะนำให้จ้างคนทำบัญชีเลยค่ะ หาแบบที่ไม่แพงมากที่เราจะจ่ายไหวให้ทำแค่ยื่นเอกสารและตรวจสอบเอกสารให้ โดยเราจะทำบัญชีโดยรวมแล้วส่งให้ แบบนี้จะทำให้เราเห็นยอดการขายและยอดการซื้อได้อย่างชัดเจน การวางแผนเรื่องภาษีจะทำให้เราสามารถทำธุรกิจหรือขายของได้แบบสบายใจ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่จะต้องมาก่อนเสียภาษี ก็คือ การจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อค้าแม่ค้า โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าร้าน ควรทำค่ะ