แฟรนไชส์

5 เรื่องที่ต้องคิด ก่อนซื้อแฟรนไชส์มาสร้างอาชีพ

ข้อคิดก่อนซื้อแฟรนไชส์ น้ำหอมกัลยา

ทุกวันนี้มีธุรกิจจำนวนมากที่เรียกตัวเองว่าแฟรนไชส์ และคิดอยากจะขายแฟรนไชส์เพื่อสร้างยอดขายและความสำเร็จให้กับตัวเอง แต่สิ่งนี้ กลับ “ตรงข้าม” กับแนวคิดแฟรนไชส์อย่างสิ้นเชิง

คุณฤทัยรัตน์ ประสมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท งามดีช้อปปิ้ง จำกัด เจ้าของ “น้ำหอมกัลยา” แฟรนไชส์น้ำหอมถูกกฎหมายรายแรกของประเทศไทย และเป็น Best case ของมาตรฐานแฟรนไชส์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พ.ศ. 2560 ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ไว้ดังนี้

1. เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ – โดยธุรกิจนั้น ๆไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ จะต้องประสบความสำเร็จในด้านการตลาดก่อนจึงจะ “ขยายความสำเร็จ” ไปสู่ผู้อื่นด้วยการขายแฟรนไชส์ได้ ไม่ใช่ขายแฟรนไชส์เพื่อขยายตลาดของตัวเอง เพราะหากธุรกิจต้นแบบยังไปไม่รอด การขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นก็เท่ากับพากันไปตาย

2. มีการบริหารจัดการ – ในการขายแฟรนไชส์ ผู้เป็นเจ้าของหรือแฟรนไชส์ซอร์ต้องมีคู่มือในการประกอบธุรกิจตั้งแต่หน้าบ้านยันหลังบ้าน ตั้งแต่เปิดร้านยังปิดร้าน รวมถึงระบบตรวจสอบควบคุมคุณภาพและการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ ให้กับแฟรนไชส์ซี ไม่ใช่แค่การขายสินค้า ขายปบรนด์ หรือขายสูตรอย่างที่เข้าใจกัน

3. มีสัญญาแฟรนไชส์ที่ชัดเจน – ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะในเรื่องการให้สิทธิ์ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ และการให้สิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายการค้า สัญญาที่เป็นธรรมจะช่วยปกป้องทั้งแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี หากไม่มีสัญญาที่ชัดเจนแล้วก็อาจจะมามีปัญหากันภายหลังได้

4. ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ – หลายคนคิดว่าการเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เป็นการเอารัดเอาเปรียบ แต่จริงๆแล้วอย่าลืมว่าแฟรนไชส์ซอร์มีค่าใช้จ่ายต่างๆมากมายตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ ทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สร้างแบรนด์ ทำการตลาดจนประสบความสำเร็จ การจัดทำคู่มือการประกอบธุรกิจ เมื่อขายแฟรนไชส์แล้วยังต้องเดินทางไปฝึกอบรมไปตรวจสอบคุณภาพ ไหนจะค่าเดินทาง ที่พัก ค่าวิทยากร ดังนั้นธุรกิจไหนไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนเลยว่าอาจจะเป็นแฟนชายที่ไม่มีคุณภาพ

5. เป็นธุรกิจถูกกฎหมาย – ข้อนี้สำคัญมากในการพิจารณาเลือกซื้อแฟรนไชส์ โดยเฉพาะในธุรกิจเครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งน้ำหอมเองที่จะต้องมีเลขที่ใบรับแจ้งของ อย. เสียภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย ภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วจะต้องมีความถูกต้องในการดำเนินธุรกิจด้วย เช่นนำส่งภาษีและงบการเงินอย่างถูกต้อง